พันเอก อุทัย วิจิตร

คุณแม่ สมทรัพย์ วิจิตร

คุณแม่ ทวี เตมียงค์

 

 

 

 

 

Blog counter
 

 

อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ

พันเอก อุทัย วิจิตร
ชาตะ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๖
มรณะ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘


ณ ฌาปนสถานกองทัพอากาศ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร
เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร
วันพุธที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘



ชีวประวัติของ พันเอก อุทัย วิจิตร

เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๖ ณ ภูมิลำเนาเดิมที่ หมู่ ๑ บ้านเนินตาลเด่น ตำบลพานทอง อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี มีบิดาชื่อ นาย ตุ๋ย วิจิตร มารดาชื่อ นางยอด วิจิตร และ ปู่ชื่อ เสมียนเดช วิจิตร ย่าชื่อ นาง อิ่ม วิจิตร และ ตาชื่อ ท้าว พูม จันทร์สว่าง ยายชื่อ นางรอด จันทร์สว่าง ครอบครัวของชีวิตในเยาว์วัย นั้นประกอบอาชีพทำนาและเป็นครอบครัวใหญ่ พันเอก อุทัย วิจิตร มีประวัติโดยสังเขป ดังนี้

วุฒิการศึกษาก่อนเข้ารับราชการ

โรงเรียนประจำจังหวัดชลบุรี ”ชลราษฎรอำรุง” จบการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ ๖ เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๔

ขึ้นทะเบียนทหารกองประจำการเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ. ศ. ๒๔๘๕ เพราะ เป็นทหารอาสาสมัครประเภทนักเรียนทหาร เหล่าทหารสื่อสาร ของกองทัพอากาศ เครื่องหมาย ทอ.2485 ช. บ. 2

วุฒิการศึกษาเมื่อเข้ารับราชการแล้ว

๑. กอง รร.ทอ.โรงเรียนช่างวิทยุทหารอากาศ เรียนอยู่ 6 เดือน ตั้งแต่ ๑๘ มิ.ย. ๒๔๘๕ ถึง ๓๑ ธ.ค. ๒๔๘๕แล้วโอนมาเรียนที่โรงเรียนนายร้อยสำรองทหารบก

๒. โรงเรียนนายร้อยสำรองทหารบก สำเร็จได้ที่ ๒๓ ของจำนวน ๒๒๘ คน ตั้งแต่ ๑ ม.ค.๒๔๘๖ ถึง ๑๘ ต.ค.๒๔๘๖

๓. โรงเรียนทหารสื่อสาร สำเร็จได้ที่ ๘ ของจำนวนนักเรียน ๒๒ คน ตั้งแต่ ๑ ส.ค.๒๔๘๖ ถึง ๓๐ ก.ย. ๒๔๘๖

๔. โรงเรียนช่วยรบ (ผบ.มว.สัมภาระ) สำเร็จได้ที่ ๖ ของจำนวนนักเรียน ๔๕ คน ตั้งแต่ ๖ ก.พ. ๒๔๙๐ ถึง ๑๓ เม.ย. ๒๔๙๑

๕. โรงเรียนพลาธิการ กรมพลาธิการทหารบก (ผบ.พัน) สำเร็จได้ที่ ๗ ของนักเรียน ๔๐ คน ตั้งแต่ ๒ มี.ค.๒๕๐๒ ถึง ๓๑ ก.ค. ๒๕๐๒

๖. โรงเรียนส่งกำลังบำรุง กรมส่งกำลังบำรุงชั้นสูง รุ่นที่ ๑๔ สำเร็จได้ที่ ๑๕ ของนักเรียน ๔๓ คน สอบได้ในเกณฑ์ดี ๘๒.๙๓ % ตั้งแต่ ๑๑ พ.ค. ๒๕๑๔ ถึง ๒๗ ก.ย. ๒๕๑๔

รับพระราชทานยศทหารตามลำดับ

๑. ว่าที่ร้อยตรี – ๑๙ ต.ค. ๒๔๘๖

๒. ร้อยตรี – ๑ ก.ค. ๒๔๘๗

๓. ร้อยโท - ๑ ม.ค. ๒๔๘๙

๔. ร้อยเอก – ๑ ม.ค. ๒๔๙๓

๕. พันตรี – ๑ ม.ค. ๒๔๙๙

๖. พันโท – ๑ ม.ค. ๒๕๐๔

๗. พันเอก – ๑ มี.ค. ๒๕๑๗

ตำแหน่งในขณะรับราชการทหารตามลำดับ

๑. นักเรียนช่างวิทยุ กอง รร.ทอ. (๑๘ มิ.ย. ๒๔๘๕)

๒. นักเรียนนายร้อยสำรองทหารบก (๑๔ ม.ค.๒๔๘๖)

๓. สำรองราชการ บก.มทบ.1 (๑๙ ต.ค. ๒๔๘๖)

๔. ผบ.มว.ส.พัน ปกน.(หนุน) ๑๑ (๒๖ ต.ค. ๒๔๘๖)

๕. ผบ.มว.ร.๒ พัน. ๒ (๒๗ ก.พ. ๒๔๘๙)

๖. ผบ.มว.สัมภาระ ร. ๒๑ (๒๐ ก.ค. ๒๔๘๙)

๗. นายทหารฝึกหัดการสัมภาระ โรงเรียนช่วยรบ (๖ ก.พ. ๒๔๙๐)

๘. นายทหารพลาธิการ ผท.ทบ. (๑๔ เม.ย. ๒๔๙๑)

๙. นายทหารฝ่ายยกกระบัตร ผท.ทบ. (๒๖ มิ.ย. ๒๔๙๓)

๑๐. พลา ป.พัน. ๕ ( ๓๑ พ.ค. ๒๔๙๕)

๑๑. พลา กอง สห.มทบ.๑ (๑๗ ส.ค. ๒๔๙๖)

๑๒. ฝพธ.แผนก พธ.กองกลาง สห.ทบ. (๗ ก.ย. ๒๔๙๘)

๑๓. ประจำแผนก สห.ทบ. (๒๑ ก.พ. ๒๕๐๑)

๑๔. รอง พลา กอง พธ.ศฝ. (๒๕ พ.ค. ๒๕๐๓)

๑๕. อาจารย์ รร.พธ.พธ.ทบ. (๖ ก.ค. ๒๕๐๔)

๑๖. พลา กรมยุทธโยธา ทบ. (๒๘ พ.ค. ๒๕๐๕)

๑๗. พลา พล.ร้อย.พธ.พล.ม. (๑๕ เม.ย. ๒๕๐๘)

๑๘. หน.กองเกียกกาย พธ.ทบ. (๒๙ เม.ย. ๒๕๐๙)

๑๙. หน.พธ.ทบ. (๒๑ ก.ย. ๒๕๐๙)

๒๐. หน.รร.พธ.พธ.ทบ. (๓๑ มี.ค. ๒๕๑๔)

๒๑. รอง หก.พธ.ทบ. (๑ มี.ค. ๒๕๑๗)

๒๒. หกรร.พธ.พธ.ทบ. (๑๕ เม.ย. ๒๕๒๓)

๒๓. หก.วิชาพลาธิการ รร.พธ.ทบ. (๑๕ เม.ย. ๒๕๒๓)

๒๔. รรก.แทน หก.ยบ.พธ.ทบ. (๖ พ.ค. ๒๕๒๓)

๒๕. พ้นหน้าที่ รรก.แทน หก.ยบ.พธ.ทบ. (๑๓ มิ.ย.๒๕๒๓)

๒๖. รรก.แทน หก.แผนและอำนวยการฝึก รร.พธ.ทบ. (๙ ก.ย. ๒๕๒๔)

๒๗. หน.รร.ทหารพลาธิการ พธ.ทบ. (๒ ก.พ. ๒๕๒๕)

๒๘. หน.เตรียมการ รร.พลาธิการทหาร (๒ ก.พ. ๒๕๒๕)

๒๙. ประจำ มทบ.1 (๒๐ มิ.ย. ๒๕๒๖)

ราชการทัพ

๑. ไปราชการสนามในกรณีฉุกเฉินคราวสงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๕ ตั้งแต่ ๒๖ ต.ค. ๒๔๘๖ - ๓๑ ธ.ค. ๒๔๘๘ (๒ ปี ๒ เดือน ๕ วัน)

๒. ปฏิบัติราชการในกรณีกบฏ ๒๕ มิ.ย. ๒๔๙๔ ตั้งแต่ ๓๐ มิ.ย. ๒๔๙๔ – ๕ ก.ย. ๒๔๙๔ (๒ เดือน ๙ วัน)

๓. ในกรณีประกาศใช้กฎอัยการศึก ตั้งแต่ ๑๗ ก.ย. ๒๕๐๐ – ๙ ม.ค. ๒๕๐๑ (๓ เดือน ๒๓ วัน)

๔. ในกรณีประกาศใช้กฎอัยการศึก ตั้งแต่ ๒๑ ต.ค. ๒๕๐๑ – ๒๘ ต.ค. ๒๕๐๗ (๗ ปี ๗ วัน)

๕. ในกรณีประกาศใช้กฎอัยการศึก ตั้งแต่ ๗ ต.ค. ๒๕๑๙ – ๕ ม.ค. ๒๕๒๐ ( ๓ เดือน )

รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์

๑. เหรียญช่วยราชการเขตภายใน เมื่อ ๑ ส.ค. ๒๔๘๖

๒. เบญจมาภรณ์ มงกุฎไทย (ชั้นที่ ๕) (บ.ม.) เมื่อ ๔ ธ.ค. ๒๔๙๒

๓. เหรียญบรมราชาภิเษก(ร.๙) เมื่อ ๕ พ.ค. ๒๔๙๓

๔. เบญจมาภรณ์ช้างเผือก (บ.ช.) เมื่อ ๕ ธ.ค. ๒๔๙๔

๕. จัตุรถาภรณ์ มงกุฎไทย (ชั้นที่ ๕) (จ.บ.) เมื่อ ๑๘ พ.ย. ๒๔๙๖

๖. เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.) เมื่อ ๕ ธ.ค. ๒๕๐๑

๗. เหรียญเสด็จนิวัติกลับจากประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป เมื่อ ๑๘ ม.ค. ๒๕๐๔

๘. ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ชั้นที่ ๓) (ต.ม.) ตั้งแต่ ๕ ธ.ค. ๒๕๐๕

๙. เหรียญชัยสมรภูมิสงครามเอเชียบูรพา (ช.ส.) ตั้งแต่ ๓ ก.ย. ๒๕๐๕

๑๐. ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ชั้นที่ ๓) (ต.ช.) ตั้งแต่ ๕ ธ.ค. ๒๕๑๘

ชีวิตสมรสและบุตรธิดา

ได้สมรสกับ นางสาว สมทรัพย์ เตมียงค์ ซึ่งเป็นธิดา นาย พู เตมียงค์ และ นางทองดี เตมียงค์ เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๐ โดยมีรายชื่อบุตรและธิดา ดังนี้

๑. พลเอก ธนกฤต (ชาญณรงค์) วิจิตร - เกิดเมื่อ ๗ ก.ค. ๒๔๙๕

๒. พลอากาศตรี กิติศักดิ์ วิจิตร - เกิดเมื่อ ๑๓ ส.ค. ๒๔๙๘

๓. นาย ณรงค์เดช วิจิตร - เกิดเมื่อ ๑๕ ก.ค. ๒๕๐๐

๔. พันเอก ณรงค์ฤทธิ์ วิจิตร - เกิดเมื่อ ๕ ม.ค. ๒๕๐๒

๕. นาย ชัยวัฒน์ วิจิตร - เกิดเมื่อ ๕ ก.พ. ๒๕๐๔ (เสียชีวิตเมื่อ ปี ๒๕๓๙)


อาลัยพ่อ

 

พวกเราทุกคนตกใจมากเมื่อได้รับข่าวการล้มเจ็บและเสียชีวิตอย่างกะทันหันของคุณพ่อ พันเอก อุทัย วิจิตร เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๘ ถึงแม้จะพอทราบเรื่องอาการป่วยด้วยโรคลิ่มเลือดหัวใจและความดันมากก่อนหน้านี้ แต่คุณพ่อได้เข้ารับการรักษาพักฟื้นที่โรงพยาบาลเมโยจนอาการส่วนใหญ่ดีขึ้นแล้วเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

คุณพ่อ พันเอก อุทัย วิจิตร เป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพ มีความเมตตา ใช้ชีวิตที่สมถะ เรียบง่าย และมีจิตใจอันดีงามเป็นอย่างยิ่ง เป็นที่รักของพวกเราทุกคน ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา ท่านได้วางแผนอนาคตให้กับครอบครัว “วิจิตร” ทุกคน สำหรับการดำรงชีวิตต่างๆ มากมาย ท่านเสียสละอดออมทุนทรัพย์ที่มีไม่มากมายนักสำหรับข้าราชการทหารคนหนึ่งเพื่อลูกของท่านทุกคน ให้ได้รับพื้นฐานทางด้านการศึกษาอย่างดี ด้วยสถานศึกษาที่ท่านคัดสรรแล้ว เริ่มจากลูกทุกคนได้เข้าเรียนที่ โรงเรียน อัสสัมชัญ ธนบุรี แล้วต่อด้วย โรงเรียนเตรียมทหาร และ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ สำหรับลูกคนโต โรงเรียนนายเรืออากาศ สำหรับลูกคนที่สอง โรงเรียนนายเรือ สำหรับลูกคนที่สาม โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ สำหรับลูกคนที่สี่ และ วิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือ (เทคนิคไทย-เยอรมัน) สำหรับลูกคนสุดท้อง จนปัจจุบันทุกคนประสบผลสำเร็จ มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานทุกคน ยกเว้นน้องคนเล็กหรือลูกคนสุดท้องของท่านที่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตทางรถยนต์เมื่อหลายปีก่อน

ท่านเป็นผู้มีน้ำใจงาม มีมนุษย์สัมพันธ์ดี มีความโอบอ้อมอารี มีน้ำใจไมตรีกับทุกคนที่คบค้าสมาคมฯ ด้วย เป็นคนมีอารมณ์ดี ใครได้ใกล้ชิดพูดคุยด้วยจะมีความรู้สึกสบายใจ เท่าที่พวกเราได้เห็นมา ในแวดวงของทหาร ท่านก็เป็นที่รักใคร่ของเพื่อนร่วมรุ่นเดียวกัน เป็นที่เคารพนับถือของรุ่นน้อง ผู้ใต้บังคับบัญชา ใครมีปัญหามีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจไปหา รับรองว่าไม่ผิดหวัง เพราะท่านเป็นคนมีน้ำใจให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลคนอื่นอยู่เสมอ ตลอดรวมถึงญาติพี่น้องลูกหลานในตระกูล “วิจิตร” ทุกคน ท่านได้พรากเพียรพยายามด้วยเวลากว่า 30 ปีเป็นผู้อยู่เบื้องหลังผลักดันให้คนในตระกูล “วิจิตร” ทุกคนได้มารวมตัวกัน ทำบุญกุศล และมีโอกาสพบปะกันเป็นประจำทุกปีเสมอมา ณ ภูมิลำเนาบ้านเกิดของท่านที่ อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี อีกทั้งเป็นผู้สืบเสาะค้นคว้าเรื่องราวประวัติของตระกูล “วิจิตร” และได้นำมาเรียบเรียงเป็นหนังสือประวัติของตระกูล ไว้ให้ลูกหลานได้รับทราบความเป็นมาอย่างถูกต้องของตระกูลอีกด้วย ดังที่ได้คัดลอกบางส่วนของหนังสือนี้ลงพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของท่าน ไว้ ณ ที่นี้

คุณพ่อ พันเอก อุทัย วิจิตร เป็นคุณพ่อที่ประเสริฐ ท่านเปรียบเสมือนร่มโพธิ์ใหญ่ ที่ให้ความร่มเย็นแก่พวกเราทุกคน เมื่อคนไหนตกทุกข์ได้ยากมาหา เป็นได้ช่วยเหลือทุกคน พวกเราได้รับความอุปการะช่วยเหลือตั้งแต่ยังเยาว์วัย จวบจนกระทั่งท่านได้จากไปโดยไม่มีวันกลับมาอีกแล้ว เปรียบเสมือนร่มโพธิ์อาศัยอยู่ของคนหลายคนต้องพังลง ทำให้พวกเราทุกคนต้องอาลัยอาวรณ์เป็นอย่างยิ่ง ตลอดจนจวบสิ้นชีวิตของทุกคนก็ไม่สามารถจะลืมท่านได้

นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของครอบครัว “วิจิตร” ที่ต้องขาดบุคคลอันเป็นที่รักยิ่งของทุกคนไป พวกเราขอตั้งจิตอธิษฐานต่ออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก ตลอดจนอำนาจแห่งบุญกุศล และคุณงามความดีที่ท่านได้สร้างสมไว้เมื่อยังมีชีวิตอยู่ อันเป็นกุศลผลบุญ ดุจดวงประทีปนำทางให้ดวงวิญญาณอันบริสุทธิ์ของท่านได้ไปสู่สุคติในสัมปรายภพ และหากมีญาณวิถีใดที่จะหยั่งทราบได้ ขอให้รับทราบด้วยว่าพวกเราทุกคนยังคงระลึกถึงคุณพ่อ พันเอก อุทัย วิจิตร อยู่ด้วยความอาลัยมิรู้ลืม


คำไว้อาลัยแด่ พ.อ. อุทัย วิจิตร

จากสมาคมนายร้อยสำรองรุ่นที่ 2

ก่อนอื่นผู้เขียนใคร่ขอนำประวัติศาสตร์สงครามมาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้ทราบโดยสังเขป เพื่อนำเรื่องไปปะติดปะต่อกับชีวิตของ พ.อ.อุทัย วิจิตร และผู้เขียนซึ่งมีชีวิตอยู่ในห้วงเวลานั้นพอดี ผู้เขียนจะขอเล่า “เรื่องสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่องสงครามมหาเอเชียบูรพาและกรณีพิพาทอินโดจีน” ซึ่งเกิดขึ้นติดต่อกันเป็นลูกโซ่ ผู้เขียน พ.อ.อุทัย วิจิตร และเพื่อนอดีตนายร้อยสำรองรุ่นที่ 2 กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมปลายบ้าง อาชีวะศึกษาบ้าง บางคนก็สำเร็จออกประกอบอาชีพแล้ว แต่ยังอยู่ในวัยฉกรรจ์ยังไม่พ้นการเป็นทหารเกณฑ์

สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2481 ถึง พ.ศ. 2488 และจบลงในปลายปี พ.ศ. 2488 เป็นการรบกันระหว่างเยอรมันนีกับอิตาลี ฝ่ายหนึ่งซึ่งเรียกว่าฝ่าย “อักษะ” ทำการรบกับประเทศฝรั่งเศส อังกฤษ เบลเยี่ยม รัสเซียและอเมริกาซึ่งเรียกว่าฝ่าย “สัมพันธมิตร” อีกฝ่ายหนึ่ง พื้นที่ทำการอยู่ในทวีปยุโรป อาฟริกาตอนเหนือและในมหาสมุทรแอตแลนติก และจบลงโดยฝ่าย “อักษะ” เป็นฝ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะหมดกำลังในปลายปี พ.ศ. 2488 ฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะสงครามโลกครั้งที่ 2

สงครามมหาเอเชียบูรพา เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2484 จนถึงต้นปี พ.ศ. 2489 เป็นสงครามต่อเนื่องกับสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยญี่ปุ่นได้ประกาศสงครามกับประเทศอเมริกาและประเทศสัมพันธมิตร เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับเยอรมันนีและอิตาลี (ฝ่ายอักษะ) พื้นที่ทำการสงครามอยู่ในทวีปเอเชียและมหาสมุทรแปซิฟิก ญี่ปุ่นได้ส่งกำลังกองทัพอันแข็งแกร่ง มีกำลังพลและยุทโธปกรณ์มหาศาล เข้าโจมตีและยึดประเทศเขมร ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เกาะเว็ก เกาะกวม และ เกาะฮาวาย ของอเมริกา เข้าทำลายกำลังกองทัพของอังกฤษ ฝรั่งเศส และอเมริกา ซึ่งกองทัพอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก โดยญี่ปุ่นได้ส่งเครื่องบินเรือรบเข้าโจมตีและยกพลขึ้นบกพร้อมกันเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นสามารถยึด เขมร ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ได้หมด เว้น เว็ก กวม และ ฮาวาย

สำหรับประเทศไทย ญี่ปุ่นได้ส่งกำลังเข้ายึดประเทศไทย 2 ทาง ทางบกได้บุกเข้ามาทางด้านอรัญประเทศมาจากการยกพลขึ้นบกที่ประเทศเขมร ทางน้ำได้ยกพลขึ้นบกที่สมุทรปราการ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี เช้ามืดวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2584 พร้อมกันทุกจุด ญี่ปุ่นได้ยื่นคำขาดให้ไทยวางอาวุธ อนุญาตให้ญี่ปุ่นเคลื่อนกำลังกองทัพผ่านไปยังมาเลเซียและพม่าได้ และอนุญาตให้ญี่ปุ่นตั้งฐานทัพในไทยได้ กับขอให้ไทยเป็นมิตรเข้าร่วมรบกับญี่ปุ่น ในตอนแรกไทยไม่ยินยอม จึงได้เกิดการสู้รบกันทุกจุดที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก ทั้งไทยและญี่ปุ่นต้องเสียกำลังพลไปเป็นอันมาก โดยเฉพาะฝ่ายไทยเรา ทหาร ตำรวจ ยุวชนทหาร และลูกเสือต้องเสียชีวิตไปหลายคน ในที่สุดรัฐบาลไทยก็พิจารณาเห็นว่าถ้าขืนสู้ต่อไปก็ไม่มีทางจะชนะได้ เพราะเรามีกำลังน้อยไม่พร้อมที่จะทำการรบ ขาดกำลังพลและยุทโธปกรณ์ ประเทศชาติและประชาชนจะต้องได้รับความเสียหายย่อยยับเป็นอย่างมาก รัฐบาลไทย (ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี) จึ่งสั่งให้ทหารวางอาวุธ อนุญาตให้กองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนกองทัพผ่านประเทศไทย และตั้งฐานทัพในไทยได้ด้วยความจำใจและจำเป็นต้องรบร่วมกับญี่ปุ่นด้วย โดยกองทัพไทยรับภารกิจทางภาคเหนือเข้าตีเมืองยอง เมืองเชียงตุง กองทัพไทยสามารถยึดเมืองยอง เมืองเชียงตุงของพม่าได้ และเข้าต่อสู้กับกองทัพน้อยที่ 5 และกองพล 93 ของจีนก๊กมินตั๋ง กำลังของกองทัพไทยส่วนใหญ่ 80% ถูกส่งไปทำการรบในภาคเหนือ (กองทัพพายัพ) ส่วนกองทัพญี่ปุ่นก็มุ่งเข้าสู่มาเลเซียและพม่าต่อไป เมื่อกองทัพญี่ปุ่นยึดมาเลเซียได้ก็ได้มอบรัฐกลันตัน ตรังกานู เปอร์ลิส และไทรบุรี (เคดาร์) ให้กับประเทศไทย เพราะรัฐเหล่านี้เป็นของไทยมาก่อน ถูกอังกฤษยึดเอาไปในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อรัชกาลที่ 5

สงครามมหาเอเชียบูรพาจบลงในต้นปี พ.ศ. 2489 โดยอเมริกายึดฟิลิปปินส์คืนได้ และทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและเมืองนางาซากิ และยกพลขึ้นบกเข้ายึดเกาะของญี่ปุ่นหลายเกาะ ญี่ปุ่นได้รับความเสียหายอย่างยับเยิน ต้องยอมแพ้สงครามอย่างไม่มีเงื่อนไข อเมริกาเข้ายึดครองญี่ปุ่น

กรณีพิพาทอินโดจีน ประเทศไทยได้ขอดินแดนที่ถูกฝรั่งเศสยึดเอาไปตั้งแต่ ร.ศ. 112 ในสมัยรัชกาลที่ 5 คืน อันได้แก่ เมืองนครจำปาศักดิ์ เมืองศรีโสภณ ซึ่งถูกฝรั่งเศสผนวกให้อยู่กับประเทศลาว เมืองพระตะบองและเมืองเสียมราช (เสียมเรียบ) ถูกผนวกเข้าอยู่ประเทศเขมรใน พ.ศ. 2482 ฝรั่งเศสไม่ยอมคืนดินแดนเหล่านั้นให้แก่ประเทศไทย ประเทศไทยจึงได้เร่งรัดจัดกำลังพลและยุทโธปกรณ์ตั้งเป็นกองทัพเข้ายึดเมืองทั้งสี่คืนจากฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2483 – 2484 ญี่ปุ่นเข้ามาไกล่เกลี่ยเป็นกรณีพิพาทอินโดจีน กรณีพิพาทอินโดจีนจบลงในปี พ.ศ. 2483 ประมาณกลางๆ ปี ไทยได้รับเมืองนครจำปาศักดิ์ ศรีโสภณ พระตะบอง และเสีมราช คืน กรณีพิพาทอินโดจีนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กองทัพบกต้องเร่งรัดนักเรียนนายร้อยทหารบกออกรับราชการทั้งหมด ตั้งแต่ชั้น 3 ถึงชั้น 1 ในปี 2484 ปลายปี โรงเรียนนายร้อยทหารบกไม่มีนักเรียนนายร้อยทหารบกเลย คงเหลือเฉพาะนักเรียนเตรียมนายร้อยทหารบกห้อง 1 และห้อง 2 เท่านั้น นักเรียนเทคนิคทหารบกก็เหลือเพียงนักเรียนเทคนิคทหารบกเพียง 2 ชั้น คือชั้น 1 และชั้น 2 จึงทำให้อาคารที่พักและห้องเรียนว่างเป็นจำนวนมาก ทั้งโรงเรียนเทคนิคทหารบกและโรงเรียนนายร้อยทหารบก

จากกรณีสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นเข้ายึดประเทศไทย และบังคับให้ประเทศไทยปฏิบัติตามคำขาดของญี่ปุ่นหลายประการ ซึ่งทำความเจ็บช้ำน้ำใจแก่คนไทยและรัฐบาลไทย (ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี) เป็นอย่างมาก มีโอกาสเมื่อไรก็จะทำการขับไล่กองทัพญี่ปุ่นให้ออกไปจากประเทศไทยทันที จึงได้วางแผนย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพมหานครไปอยู่ที่เมืองเพชรบูรณ์ และวางแผนการจัดตั้งกองทัพขึ้นต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่น แต่ก็มีอุปสรรคอยู่เป็นอย่างมาก เพราะขาดกำลังพลชั้นผู้บังคับหมวด เนื่องจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกและโรงเรียนเทคนิคทหารบก นักเรียนนายร้อยและนักเรียนเทคนิคถูกเร่งรัดออกรับราชการไปหมดแล้ว ไม่สามารถที่จะเร่งรัดได้อีกแล้ว ประกอบกับนายทหารที่เร่งรัดออกรับราชการในกรณีพิพาทอินโดจีน ก็ได้รับการปูนบำเหน็จเลื่อนยศเลื่อนชั้นสูงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นร้อยเอกไปหมดแล้วไปทำหน้าที่ผู้บังคับกองร้อย จึงมีความจำเป็นที่จะจัดสร้างกำลังพลชั้นบังคับหมวดขึ้นโดยด่วน เพื่อบรรจุเข้าเป็นผู้บังคับหมวดในกองพันที่ 2 ที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ให้เพียงพอแก่ความต้องการและเพื่อบรรจุกำลังเสริมกำลังทดแทนให้แก่กองทัพภาคพายัพ และมณฑลทหารบกที่ 5 ซึ่งยังขาดแคลนกำลังพลชั้นผู้บังคับหมวดอยู่เป็นอันมากด้วย

เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้วางไว้ รัฐบาลจึงได้ตั้งโรงเรียนนายร้อยสำรองทหารบกขึ้นเมื่อ 15 เมษายน 2485 เปิดรับสมัครชายฉกรรจ์เข้าเป็นนักเรียนนายร้อยสำรองทหารบก โดยต้องมีคุณสมบัติวุฒิอย่างต่ำต้องจบมัธยมปีที่ 6 เป็นโสด รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 กำหนดให้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ถึง 25 ปีบริบูรณ์ รุ่นที่ 3 ได้ยืดอายุถึง 30 ปีบริบูรณ์ ขณะเดียวกันได้ตั้งโรงเรียนนายร้อยหญิงขึ้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2485 สถานที่พักและห้องเรียนใช้โรงเรียนเทคนิคทหารบก หลักสูตรการศึกษาใช้หลักสูตรเร่งรัด ครูอาจารย์และผู้บังคับบัญชาของนักเรียนนายร้อยสำรองทหารบก ใช้ครูอาจารย์จากโรงเรียนนายร้อยทหารบกและโรงเรียนเทคนิคทหารบก ผู้บังคับบัญชาก็คงใช้ผู้บังคับบัญชาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก ผู้ช่วยผู้บังคับบัญชาก็ให้ใช้นักเรียนเทคนิคชั้นปีที่ 3 ซึ่งเป็นชั้นสูงที่สุดทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้บังคับบัญชานักเรียนนายร้อยสำรองทหารบก ครูฝึกเบื้องต้นก็ใช้นักเรียนเทคนิคชั้นปีที่ 2 เป็นครูฝึกนักเรียนนายร้อยสำรองทหารบก โรงเรียนนายร้อยสำรองทหารบกให้สังกัดอยู่ในกรมยุทธศึกษาทหารบกเช่นเดียวกับโรงเรียนนายร้อยทหารบก โรงเรียนเทคนิคทหารบก โรงเรียนเตรียมทหารบก ซึ่งภายหลังแปรสภาพเป็นโรงเรียนนายร้อย จปร. และโรงเรียนเตรียมทหาร

พ.อ.อุทัย วิจิตร และผู้เขียนเป็นอดีตนักเรียนนายร้อยสำรองทหารบกรุ่นที่ 2 สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยสำรองทหารบก และได้รับแต่งตั้งยศเป็น ว่าที่ร้อยตรี เมื่อ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2486 นักเรียนนายร้อยสำรองทหารบกรุ่นที่ 2 มีจำนวนทั้งหมด 250 นาย สำเร็จออกเป็นนายทหารสัญญาบัตร 241 นาย ส่วนใหญ่ 90% ถูกบรรจุเข้าปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับหมวดในกองทัพที่ 2 ซึ่งมีภารกิจที่จะต้องสู้รบและขับกองทัพญี่ปุ่นออกไปจากประเทศไทยให้ได้ เสร็จสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามมหาเอเชียบูรพา นายทหารที่สำเร็จจากโรงเรียนนายร้อยสำรองทหารบกถูกปลดออกจากราชการ 75% กองทัพบกได้คัดเลือกเอาไว้เพียง 25% แต่ในที่สุดทางราชการก็รับเข้ารับราชการหมด เป็นทหารบกบ้าง ทหารอากาศบ้าง ตำรวจบ้าง สัสดีบ้าง ข้าราชการพลเรือนบ้าง เหลือที่ประกอบอาชีพส่วนตัวประมาณ 5% อดีตนายร้อยสำรองทหารบกรุ่นที่ 2 ที่ยังมีชีวิตอยู่ขณะนี้เหลือเพียง 25% เท่านั้น คนที่แก่ที่สุดก็อายุ 88 ปีแล้ว คนที่หนุ่มที่สุดก็อายุ 81 ปีย่าง 82 ปีแล้ว

พ.อ.อุทัย วิจิตร และผู้เขียนมีความรักใคร่สนิทสนมกันมาก เคยลำบากทุกข์ยากมาด้วยกัน เคยกินข้าวแดงแกงร้อนจากโรงเรียนนายร้อยกระทะเดียวกันมา เคยเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายในสงครามมหาเอเชียบูรพามาด้วย พ.อ.อุทัย วิจิตร เป็นคนดี มีบุคลิกภาพเข้มแข็ง อดทน เสียสละ กล้าหาญ โอบอ้อมอารี ซื่อสัตย์สุจริต เป็นบุคคลตัวอย่างที่สมควรได้รับการยกย่องสรรเสริญ เป็นสามีที่ดีของภรรยา เป็นบิดาที่ดีของบุตร เป็นมิตรที่ดีของเพื่อนฝูง เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดีของผู้บังคับบัญชา เป็นผู้บังคับบัญชาที่ดีของลูกน้อง

การจากไปอย่างไม่มีวันกลับของ พ.อ.อุทัย วิจิตร เพื่อนรัก ย่อมยังความเศร้าโศกเสียใจมาสู่ภรรยาและบุตร ตลอดจนมิตรสหายเป็นอย่างยิ่ง ขอให้ดวงวิญญาณอันบริสุทธิ์ของ พ.อ.อุทัย วิจิตร เพื่อนรักจงไปสู่สุขคติภพอันสมบูรณ์พูลสุขจงทุกประการเถิด

 

พ.อ. สุนทร สังประกุล

เลขาธิการสมาคมนายร้อยสำรองรุ่นที่ 2
 

<< คลิกที่ภาพด้านล่าง >>

 

 
 
Copyright © 2009 CKN Cyber Key Network All rights reserved